พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พรหมชาล สูตรกับการประยุกต์ใช้ในชีวิต 

      พรหมชาลสูตร เป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ถือเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหมือนบทนำที่แสดงภาพรวมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับศีล และทิฏฐิ ๖๒ ประการ

ที่มาและเรื่องเล่า

      เรื่องราวในพรหมชาลสูตรเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พระพุทธเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ไปยังเมืองนาลันทา ระหว่างทางได้มี สุปปิยปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) กับ พรหมทัตตมานพ (ลูกศิษย์ของสุปปิยะ) เดินทางตามมาด้านหลัง

      ในระหว่างทาง สุปปิยปริพาชกได้กล่าวตำหนิพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในขณะที่พรหมทัตตมานพกลับกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ทั้งสองโต้เถียงกันตลอดทาง

      พระภิกษุรูปหนึ่งได้ยินเรื่องราวการโต้เถียงนี้ จึงนำเรื่องไปกราบทูลพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสดับเรื่องแล้ว พระองค์มิได้ทรงแสดงความโกรธหรือไม่พอใจต่อคำตำหนิ หรือยินดีกับคำสรรเสริญ แต่ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

  • เมื่อมีคนกล่าวตำหนิติเตียนพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ไม่ควรเสียใจ ไม่ควรคับแค้นใจ หรือโกรธแค้น เพราะหากทำเช่นนั้น จิตใจของภิกษุจะเศร้าหมอง จะไม่สามารถรู้แจ้งธรรมได้ ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวตำหนินั้นจริงหรือไม่ หากไม่จริง ก็ชี้แจงไปตามความเป็นจริง
  • เมื่อมีคนกล่าวสรรเสริญพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์: ไม่ควรดีใจ ไม่ควรปลาบปลื้มใจจนเกินไป เพราะหากทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความยินดี ความทะนงตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวสรรเสริญนั้นจริงหรือไม่ หากจริง ก็รับรู้ไว้

     จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายถึง ศีล โดยละเอียด ตั้งแต่ จุลศีล (ศีลเล็กน้อย) มัชฌิมศีล (ศีลปานกลาง) และ มหาศีล (ศีลใหญ่) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ และเหล่าพระสาวกที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์

     ต่อจากเรื่องศีล พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่อง ทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งเป็นความเห็นผิดต่างๆ ที่นักบวชในยุคนั้นยึดถือ โดยทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างละเอียด และทรงชี้ให้เห็นว่าทิฏฐิเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น และสุดท้ายก็ทรงสรุปว่าพระองค์ทรงล่วงพ้นทิฏฐิเหล่านั้นไปได้หมดแล้ว เพราะทรงรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเกิดดับของสิ่งทั้งปวง

คติธรรม

๑.อุเบกขาธรรม (ความเป็นกลาง) พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึงการวางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปกับคำตำหนิหรือคำสรรเสริญ สอนให้ภิกษุพิจารณาด้วยปัญญาว่าอะไรคือความจริง ไม่หลงระเริงไปกับคำเยินยอ หรือขุ่นเคืองกับคำติเตียน

๒.ความสำคัญของศีล พระสูตรนี้เน้นย้ำความสำคัญของศีล ว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม เป็นเครื่องชำระกาย วาจา ให้บริสุทธิ์ และเป็นสิ่งที่แยกแยะพุทธบริษัทออกจากนักบวชลัทธิอื่น

๓.การไม่ยึดมั่นในทิฏฐิ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของการยึดมั่นในทิฏฐิหรือความเห็นผิดต่างๆ ว่าเป็นเครื่องกั้นขวางการเข้าถึงความจริง และความหลุดพ้นจากทุกข์

๔.ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่ง เป็นปัญญาที่ทำให้หลุดพ้นจากทิฏฐิและสังสารวัฏ

๕.การไม่หลงในโลกธรรม ๘ เรื่องราวนี้สะท้อนหลักโลกธรรม ๘ คือ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา, สุข-ทุกข์ และสอนให้วางใจเป็นกลางต่อสิ่งเหล่านี้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

๑.การวางใจเป็นกลางต่อคำพูดผู้อื่น ไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำวิจารณ์ ควรพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่หลงดีใจจนเหลิง หรือเสียใจจนฟูมฟายเกินไป ใช้คำวิจารณ์เป็นโอกาสในการปรับปรุงตนเอง และใช้คำชมเป็นกำลังใจแต่ไม่ยึดติด

๒.รักษาศีลและจริยธรรม การปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม จะทำให้เรามีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่มีความผิดติดตัว ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข

๓.ไม่ยึดติดกับความคิดเห็น ฝึกเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองมากเกินไป เพราะบางครั้งความคิดเห็นของเราอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจเป็นความเห็นที่ผิดพลาดก็ได้

๔.พัฒนาปัญญา หมั่นศึกษาเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฝึกสติและปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้เท่าทันความจริงของชีวิต และไม่หลงไปกับสิ่งลวงตา

๕.ฝึกใจให้สงบ ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดๆ ทั้งดีและร้าย ควรฝึกจิตใจให้สงบ ไม่ให้ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ เพราะเมื่อใจสงบ เราจะสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล

 

สรุป

พรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรที่แสดงให้เห็นถึง ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ทั้งทางกาย วาจา ใจ ผ่านการแสดงหลักศีล และการที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง จนสามารถพ้นจากทิฏฐิทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง

                                                                                                                                                                                                  ปภสฺสโรภิกฺขุ











 

๘ ต้นไม้สำคัญที่ชาวพุทธควรรู้จัก

 

 

           

            วันวิสาขบูชา   เป็นวันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นวันมหัศจรรย์มาก ๆ ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันเดียวกัน แต่ต่างวาระกัน หลายท่านคงจะทราบพุทธประวัติกันดี(บ้าง)แล้ว  มีสิ่งที่เห็นความสัมพันธ์กันในวันนี้ คือเป็นวันที่กำหนดเป็นวันปลูกต้นไมแห่งชาติด้วย ช่างเป็นอะไรที่เหมาะสมกันมากเพราะพระพุทธเจ้ามีความเกี่ยวข้องกับต้นไม้หลายชนิด จากพุทธประวัติพระพุทธองค์ทรงประทับในป่ามากกว่าที่อื่นใด   ต้องขอบคุณต้นไม้  ป่าไม้ ที่ทำให้เกิดเอกบุรุษอย่างพระพุทธเจ้าที่ไม่มีใครมาเปรียบได้    ยิ่งในปัจจุบัน  คนในโลกมนุษย์เริ่มเห็นความสำคัญของต้นไม้ ป่าไม้กันมากขึ้น  เห็นตอนที่กำลังจะสายเกินแก้กันแล้วครับ  เพราะมันเข้าสู่ภาวะโลกร้อนเสียแล้ว  

                 พระพุทธเจ้ามีความเกี่ยวข้องกับต้นไม้  จากการอ่านมีต้นไม้หลายชนิดรวมทั้งสวนป่า(อุทยาน)ที่สำคัญหลายที่  แต่ในวันนี้อยากนำมาฝากเป็นความรู้  หรือทบทวนความจำกันให้กับชาวพุทธเราสัก ๘ ชนิด  คือ


๑. ต้นสาละ  เป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวัน่ประสูติ และปรินิพพาน  พระพุทธองค์ทรงประสูติภายใต้ต้นสาละ ณ อุทยานลุมพินีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี และทรงปรินิพพานใต้ต้นสาละในกรุงกุสินารา


๒. ต้นพระศรีมหาโพธิ์  (อัสสัตถพฤกษ์) เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับภายใต้ร่มเงา ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ภายใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิแห่งนี้



๓.ต้นอปชาลนิโครธ ต้นไทรที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ ภายหลังทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับนั่งภายใต้ร่มเงาของอปชาลนิโครธเป็นเวลา ๗ วัน ต้นอปชาลนิโครธอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ


๔.ต้นมุจจลินทร์ หรือต้นจิก ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึงสัปดาห์ที่ ๖ ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้จิกอันมีชื่อว่า มุจจลินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ ๆ กับต้นพระศรีมหาโพธ ิพระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นมุจจลินทร์เป็นเวลา ๗ วัน โดยมีพญามุจจลินทร์นาคราชมาวางขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ จากสายลมและสายฝน


๕. ต้นราชยตนะ หรือต้นไม้เกต ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึง สัปดาห์ที่ ๗ ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เกตอันมีชื่อว่า ราชายตนะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ใกล้ ๆ กับต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยสิทุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน นับเป็นสัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุข ณ ที่นี้มีพ่อค้า ๒ คนนำกองเกวียนค่าขายจากแดนไกล คืออุกกลชนบท ได้ถวายเสบียงเดินทาง สัตตุผง สัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้าพ่อค้าทั้งสองคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ คือถึงพระพุทธและพระธรรม


๖. ต้นพหุปุตตนิโครธ ต้นไทรที่อยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าและขอบวชที่พหุปุตตนิโครธนี้  ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต ภายหลังเรียกว่าพระมหาสาวกมหากัสสปะ (เดิมชื่อ ปิปผลิมาณพ) ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์


๗.ต้นปาริฉัตตก์ คือต้นทองหลาง เป็นชื่อต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนนันทวัน ของพระอินทร์หรือท้าวสักะจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ ภายหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จประทับภายใต้ร่มไม้ปาริฉัตตก์ (หรือปาริฉัตร, ปาริชาต) ณ ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดสามเดือนพระพุทธมารดาได้ทรงบรรลุพระโสดาปัตติผล

๘. ต้นอานันทมหาโพธิ เป็นต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่เป็นหน่อของต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ร่ม เงาได้ตรัสรู้ ได้นำเมล็ดไปปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาลโดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการปลูกที่ประตูวัดพระเชตวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ต้นโพธิ์นั้นเรียกว่า อานันทมหาโพธิ์ ทุกวันนี้ยังปรากฏอยู่

             

                ต้นไม้ที่ถือว่าพิเศษสุดคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพราะเป็นต้นไม้ที่จัดเป็นสหชาติของพระพุทธเจ้า คืออุบัติขึ้นพร้อมกับพระพุทธองค์ มี ๗ อย่าง ได้แก่
(๑) พระนางพิมพาราหุลมาตา
(๒) ฉันนะอำมาตย์
(๓) กาฬุทายิอำมาตย์
(๔) พระอานนท์
(๕) ม้ากัณฐกะ
(๖) ต้นมหาโพธิ์
(๗) ขุมทรัพย์ 4 ทิศ

 


กระดานข่าว


เพื่อนบ้าน

    


Powered by AIWEB