พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พรหมชาล สูตรกับการประยุกต์ใช้ในชีวิต 

      พรหมชาลสูตร เป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ถือเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหมือนบทนำที่แสดงภาพรวมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับศีล และทิฏฐิ ๖๒ ประการ

ที่มาและเรื่องเล่า

      เรื่องราวในพรหมชาลสูตรเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พระพุทธเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ไปยังเมืองนาลันทา ระหว่างทางได้มี สุปปิยปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) กับ พรหมทัตตมานพ (ลูกศิษย์ของสุปปิยะ) เดินทางตามมาด้านหลัง

      ในระหว่างทาง สุปปิยปริพาชกได้กล่าวตำหนิพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในขณะที่พรหมทัตตมานพกลับกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ทั้งสองโต้เถียงกันตลอดทาง

      พระภิกษุรูปหนึ่งได้ยินเรื่องราวการโต้เถียงนี้ จึงนำเรื่องไปกราบทูลพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสดับเรื่องแล้ว พระองค์มิได้ทรงแสดงความโกรธหรือไม่พอใจต่อคำตำหนิ หรือยินดีกับคำสรรเสริญ แต่ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

  • เมื่อมีคนกล่าวตำหนิติเตียนพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ไม่ควรเสียใจ ไม่ควรคับแค้นใจ หรือโกรธแค้น เพราะหากทำเช่นนั้น จิตใจของภิกษุจะเศร้าหมอง จะไม่สามารถรู้แจ้งธรรมได้ ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวตำหนินั้นจริงหรือไม่ หากไม่จริง ก็ชี้แจงไปตามความเป็นจริง
  • เมื่อมีคนกล่าวสรรเสริญพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์: ไม่ควรดีใจ ไม่ควรปลาบปลื้มใจจนเกินไป เพราะหากทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความยินดี ความทะนงตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวสรรเสริญนั้นจริงหรือไม่ หากจริง ก็รับรู้ไว้

     จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายถึง ศีล โดยละเอียด ตั้งแต่ จุลศีล (ศีลเล็กน้อย) มัชฌิมศีล (ศีลปานกลาง) และ มหาศีล (ศีลใหญ่) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ และเหล่าพระสาวกที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์

     ต่อจากเรื่องศีล พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่อง ทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งเป็นความเห็นผิดต่างๆ ที่นักบวชในยุคนั้นยึดถือ โดยทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างละเอียด และทรงชี้ให้เห็นว่าทิฏฐิเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น และสุดท้ายก็ทรงสรุปว่าพระองค์ทรงล่วงพ้นทิฏฐิเหล่านั้นไปได้หมดแล้ว เพราะทรงรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเกิดดับของสิ่งทั้งปวง

คติธรรม

๑.อุเบกขาธรรม (ความเป็นกลาง) พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึงการวางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปกับคำตำหนิหรือคำสรรเสริญ สอนให้ภิกษุพิจารณาด้วยปัญญาว่าอะไรคือความจริง ไม่หลงระเริงไปกับคำเยินยอ หรือขุ่นเคืองกับคำติเตียน

๒.ความสำคัญของศีล พระสูตรนี้เน้นย้ำความสำคัญของศีล ว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม เป็นเครื่องชำระกาย วาจา ให้บริสุทธิ์ และเป็นสิ่งที่แยกแยะพุทธบริษัทออกจากนักบวชลัทธิอื่น

๓.การไม่ยึดมั่นในทิฏฐิ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของการยึดมั่นในทิฏฐิหรือความเห็นผิดต่างๆ ว่าเป็นเครื่องกั้นขวางการเข้าถึงความจริง และความหลุดพ้นจากทุกข์

๔.ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่ง เป็นปัญญาที่ทำให้หลุดพ้นจากทิฏฐิและสังสารวัฏ

๕.การไม่หลงในโลกธรรม ๘ เรื่องราวนี้สะท้อนหลักโลกธรรม ๘ คือ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา, สุข-ทุกข์ และสอนให้วางใจเป็นกลางต่อสิ่งเหล่านี้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

๑.การวางใจเป็นกลางต่อคำพูดผู้อื่น ไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำวิจารณ์ ควรพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่หลงดีใจจนเหลิง หรือเสียใจจนฟูมฟายเกินไป ใช้คำวิจารณ์เป็นโอกาสในการปรับปรุงตนเอง และใช้คำชมเป็นกำลังใจแต่ไม่ยึดติด

๒.รักษาศีลและจริยธรรม การปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม จะทำให้เรามีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่มีความผิดติดตัว ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข

๓.ไม่ยึดติดกับความคิดเห็น ฝึกเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองมากเกินไป เพราะบางครั้งความคิดเห็นของเราอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจเป็นความเห็นที่ผิดพลาดก็ได้

๔.พัฒนาปัญญา หมั่นศึกษาเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฝึกสติและปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้เท่าทันความจริงของชีวิต และไม่หลงไปกับสิ่งลวงตา

๕.ฝึกใจให้สงบ ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดๆ ทั้งดีและร้าย ควรฝึกจิตใจให้สงบ ไม่ให้ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ เพราะเมื่อใจสงบ เราจะสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล

 

สรุป

พรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรที่แสดงให้เห็นถึง ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ทั้งทางกาย วาจา ใจ ผ่านการแสดงหลักศีล และการที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง จนสามารถพ้นจากทิฏฐิทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง

                                                                                                                                                                                                  ปภสฺสโรภิกฺขุ











 

นะโมขลังดอทคอม    

   

 

เทศน์มหาชาติ เนื้อหาโดยย่อ
กัณฑ์ที่ ๑ กัณฑ์ทศพร
กล่าวถึงเหตุที่จะมีเรื่องเวสสันดรชาดกขึ้นกับเล่าเรื่องพระนางผุสดีในอดีตจนถึงทูลขอพร ๑๐ ประการ จากท้าวมัฆวารผู้ภัสดาพระนางผุสดีได้รับพรทิพย์ ๑๐ ประการ ในวันจะเกิดมาเป็นมารดาของพระเวสสันดร ณเมืองสีพีราษฎร์ เมื่อครั้งอดีตกาลที่ล่วงมานครสีพีรัฐบุรีนั้นมีพระราชาพระนามสีพีราช ทรงครองเมืองโดยทศพิธราชธรรมพระราชาทรงยกบัลลังก์ให้พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน เมื่อเจริญวัยสมควรแล้วพระราชโอรสมีพระนามว่า "สัญชัย" และได้อภิเษกกับพระนางผุสดีพระธิดาแห่งราชากรุงมัททราช พรจากภพสวรรค์แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ ๑๐ ข้อทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดงถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย พร ๑๐ ข้อนั้นมีดังนี้ ขอให้เกิดในกรุงมัททราช แคว้นสีพี ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม ขอให้มีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป ขอให้พระครรภ์งามไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ ขอให้ผิดพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์
เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชาชนสีพีโกรธแค้นจึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกต พระนางเทพผุสดีได้จุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช เมื่อเจริญชนม์ได้ ๑๖ ชันษา จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงนำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค" เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ ๑๖ พรรษา ราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชบิดาราชวงศ์มัททราช มีพระโอรส ๑ องค์ชื่อ ชาลี ราชธิดาชื่อ กัณหา พระองค์ได้สร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ ต่อมาพระเจ้ากาลิงคะแห่งนครกาลิงครัฐได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัย จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์
เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงแจกมหาสัตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสา สรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งสุราบานอย่างละ ๗๐๐

กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวศ
เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินดงบ่ายพระพักตร์สู่เขาวงกต เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับพักหน้าศาลาพระนคร กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฎิเสธ และเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบศาลาอาศรมซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของท้าวสักกะเทวราช กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤๅษีพำนักในอาศรมสืบมา

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก
เป็นกัณฑ์ที่ชูชกได้นางอมิตดามาเป็นภรรยา และหมายจะได้โอรสและธิดาพระเวสสันดรมาเป็นทาส ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก พำนักในบ้านทุนวิฐะ เที่ยวขอทานตามเมืองต่างๆ เมื่อได้เงินถึง ๑๐๐ กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมีย แต่ได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว เมื่อชูชกมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชก นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชก ได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาตน หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตี นางอมิตดา ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อเป็นทาสรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรามเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน
เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงกลชูชก และชี้ทางสู่อาศรมจุตดาบส ชูชกได้ชูกลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตรอ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัย จึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน
เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ ชูชกหลอกล่ออจุตฤๅษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดรแล้วก็รอนแรมเดินไพรไปหา เมื่อถึงอาศรมฤๅษี ชูชกได้พบกับอจุตฤๅษี ชูชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤๅษีจึงให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่ ๘ กัณฑ์กุมาร
เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก รุ่งเช้าเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร สองกุมารจึงพากันลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระ พระเวสสันดรจึงลงเสด็จติดตามสองกุมาร แล้วจึงมอบให้แก่ชูชก

กัณฑ์ที่ ๙ กัณฑ์มัทรี
เป็นกัณฑ์ที่พระนางมัทรีทรงได้ตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรสทั้งสองแก่ชูชก พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึก จนคล้อยเย็นจึงเดินทางกลับอาศรม แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทาง จนค่ำเมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรส พระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ จึงออกเที่ยวหาโอรสและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพระทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษ พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบ นางจึงได้ทรงอนุโมทนา

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ
เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์จำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ ท้าวสักกะเทวราชเสด็จแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อทูลขอนางมัทรี พระเวสสันดรจึงพระราชทานให้ พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ท้าวสักกะเทวราชในร่างพราหมณ์จึงฝากนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป ตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช
เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์ทำนุบำรุงขวัญสองกุมารก่อนเสด็จนิวัติถึงมหานครสีพี เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้ เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมาร จนเดินทางถึงกรุงสีพี พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายยังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นชูชกพากุมารน้อยสององค์ ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ดับชีพตักษัยด้วยเพราะเดโชธาตุไม่ย่อย ชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคะได้โปรดคืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์
เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้า ณ อาศรมดาบสที่เขาวงกต พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วันจึงเดินทางถึงเขาวงกต เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง ๔ เหล่า พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมารบนครสีพี จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดรและเมื่อหกกษัตริย์ได้พบหน้ากันทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพ ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืนท้าวสักกะเทวราชจึงได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์และทวยหาญได้หายเศร้าโศก

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์
เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัติพระนคร พระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี และเสด็จกลับสู่สีพีนคร เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ประชาชน ท้าวโกสีห์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนขนเอาไปตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ


บทคัดย่อ
การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาล คือ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเทศน์มหาชาติมีการจัดเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ หรือเดือน ๑ (เดือนอ้าย) ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกประกอบด้วยพระคาถาภาษาบาลี จำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ลักษณะการเทศน์เรียกว่า เทศน์คาถาพัน หรือเทศน์มหาชาติ มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ได้มีการแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง และการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ก็จะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป เมื่อการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์จบลงก็จะมีปี่พากย์ประโคมเพลงประจำภัณฑ์รับกัณฑ์เทศน์ด้วย
การเทศน์มหาชาตินั้น เป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่า เวสสันดรในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญทาน ด้วยการพระราชทานวัตถุสิ่งของแก่ชาวเมือง พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์ชาวเมืองกาลิงคะ พระราชทานพระชาลีและพระกัณหา ซึ่งเป็นพระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชก พระราชทานพระนางมัทรีซึ่งเป็นพระมเหสีแก่ท้าวสักกะ พระเวสสันดรทรงรักษาศีล รักษาคำสัตย์ คือ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็พระราชทานสิ่งนั้นดังที่ตรัสไว้ พระเวสสันดรได้เจริญภาวนาด้วยการเสด็จออกผนวช เจริญภาวนาอยู่ ณ เขาวงกต ทรงสละความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์แล้วดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวช จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วมีอุปนิสัยจิตใจอ่อนโยน มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามพระจริยาวัตรของพระเวสสันดร นั่นคือ สามารถทำให้ความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นถือมั่นว่า “นั่นเรา นั่นของเรา” ค่อย ๆ เบาบางลง จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด
การเทศน์มหาชาติมีอิทธิพลต่อสังคมไทย ในด้านความเชื่อ คือ เชื่อว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จบภายในวันเดียว ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. จะได้เกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
๒. จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร
๓. จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
๔. จะเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี และความสุข
๕. จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ศีลธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณกรรม จิตรกรรม การศึกษา ตลอดถึงการเมืองการปกครองของไทยอีกด้วย


 

 พุทธศาสดา

 ธรรมศึกษาวัดสะพานสูง

เพื่อนบ้าน

 ธรรมะเดลิเวอรี

 ฟังธรรมดอทคอม

 พระสมรักษ์  ญาณธีโร

 พระปิยะโรจน์

 jozho.net

 

กระดานข่าว 

    Copyright (c) 2009 by Namoklang.com

 

Powered by AIWEB