นะโมขลังดอมคอม    

    

 

ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทยโดยสังเขป   

                                                                   (เรียบเรียงโดยพระพลากร  ปภสฺสโร)

คำว่า "ศาสนา" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Religion" และคำว่า "ศาสนา" ในภาษาไทย มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า "ศาสน" แต่หากเขียนว่า "สาสนา" จะเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า "สาสน" (ประยงค์ สุวรรณบุบผา, ๒๕๓๗: ๑๖๔)

      สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (๒๕๒๗ : ๒๘-๓๖) ทรงให้ความหมายว่า ศาสนา มีความหมายสรุปได้เป็น ๒ นัย คือ (๑) คำสั่งสอน (๒) การปกครอง

      พระราชวรมุนี (ประยุทธ ปยุตฺโต) (๒๕๒๗: ๒๙๑) ทรงให้นิยามว่า "ศาสนา" คือ คำสอน คำสั่งสอน ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถืออย่างหนึ่ง ๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิพิธี องค์การ และกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้น ๆ ทั้งหมด

     สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) (๒๕๓๑: ๙๑) ทรงอธิบายว่า "ศาสนาคือ คำสั่งสอน ท่านผู้ใดเป็นต้นเดิม เป็นผู้บัญญัติสั่งสอน ก็เรียกว่าศาสนาของท่านผู้นั้น หรือท่านผู้บัญญัติสั่งสอนนั่นได้นามพิเศษอย่างไร ก็เรียกชื่อนั้นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงมีมาก คำสอนก็ต่างกัน..."

      สุชีพ ปุญญานุภาพ (๒๕๓๒: ๙) อธิบายความหมายคำว่า “ศาสนา” ไว้ว่า

๑. ศาสนา คือ ที่รวมแห่งความเคารพนับถืออันสูงส่งของมนุษย์
๒. ศาสนา คือ ที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากย่อมเลือกยึดเหนี่ยวตามความพอใจ และความเหมาะสมแก่เหตุแวดล้อมของตน
๓. ศาสนา คือ คำสั่งสอน อันว่าด้วยศีลธรรม และอุดมคติสูงสุดในชีวิตของบุคคล รวมทั้งแนวความเชื่อถือและแนวการปกิบัติต่า ๆ กันตามคติของแต่ละศาสนา

      ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๓๙: ๗๘๓) ให้ความหมายของ “ศาสนา” ว่า “ลัทธิความเชื่อของมนุษย์อันมีหลัก คือ แสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัถต์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาป อันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็น หรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อนั้น ๆ”

      จากนิยามดังกล่าวในข้างต้น จะเห็นว่านักคิดท่านต่าง ๆ ต่างให้นิยามของศาสนาไปตามโลกทัศน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อเราพิจารณาคำนิยามเหล่านี้แล้ว อาจจะเกิดปัญหาว่านิยามใดดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากนิยามของคำว่า “ศาสนา” ย่อมถูกต้องและเหมาะสมแตกต่างกันออกไปตามหลักความเชื่อของศาสนานั้น ๆ

      เมื่อเกิดปัญหาในเรื่องของการนิยามแล้ว จึงนำไปสู่การพิจารณาว่า นิยามที่ดีของศาสนานั้น ควรเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้มีผู้เสนอว่า “วิธีการนิยามศาสนาที่ดีนั้น ควรพิจารณาหาสิ่งที่มีคุณลักษณะร่วมกันที่มีอยู่ในทุกศาสนา มาใช้เป็นคำนิยามของคำว่า ศาสนา” และหากพิจารณาบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ เราจะพบว่า มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

• ทุกศาสนาจะต้องมีหลักคำสอน

      หลักคำสอนทางศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์ประพฤติดี เพื่อนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่สำคัญของศาสนา อีกทั้งทำให้มนุษย์ได้พบกับสัจธรรมในชีวิต ซึ่งเมื่อพิจารณาตามนัยยะนี้แล้วจะเห็นว่า คำสอนทางศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของศาสนาที่แต่ละปัจเจกบุคลนับถืออยู่

• หลักคำสอนของทุกศาสนาจะมีลักษณะเป็นเรื่องราวของความเชื่อมากกว่าเหตุผล

      เนื่องจากหลักคำสอนของแต่ละศาสนามุ่งสร้างความเชื่อ ความศรัทธาในคำสอนของศาสนานั้น ๆ ให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ อีกทั้งการยอมรับศาสนาของมนุษย์เกิดจากความเชื่อทางศาสนา ที่ (บางศาสนา) สามารถยอมรับศาสนานั้น ๆ ได้โดยไม่สนใจความถูกต้องในเชิงเหตุผล หรือบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

• ศาสนาทุกศาสนาเน้นเรื่องของระดับจิตใจมากกว่าเรื่องทางวัตถุ

      โดยเรื่องที่ให้ความรู้สึกทางอารมณ์ หรือจิตใจนั้นจะถูกแสดงออกโดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อทางศาสนา และการแสดงออกผ่านทางการกระทำ เป็นต้นว่า ผู้ที่เคร่งศาสนามักจะมีความมั่นคงทางจิตใจสูง เพราะเขามีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้น ทำให้จิตใจสงบ เป็นตัน

      จากลักษณะทั่วไปที่ศาสนาต่าง ๆ มีอยู่ร่วมกัน ทำให้สรุปความหมายของคำว่า “ศาสนา” ได้ว่า “ศาสนาหมายถึง หลักคำสอนที่เป็นแบบแผนของความเชื่อ ความมั่นคงทางจิตใจ และเป็นแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่ดีงามในชีวิต”

      กระนั้นก็ตาม การพิจารณาว่าสิ่งใดจัดเป็นศาสนาหรือไม่นั้น โดยปกติจะพิจารณาจากองค์ประกอบของศาสนา กล่าวคือ ระบบความเชื่อถือ หรือหลักคำสอนใดก็ตามที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ กับนับได้ว่าเป็นศาสนา

๑. ศาสดา คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา หรือผู้คิดค้น ริเริ่มในการนำคำสอนไปเผยแผ่ เช่น พระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา
๒. มีศาสนธรรม หรือหลักคำสอนอันเป็นผลงานของศาสดาในรูปของหลักคำสั่งสอนที่มีเหตุผล เช่น พระพุทธศาสนามีธรรมะ และพระวินัยเป็นหลักคำสอน
๓. มีศาสนบุคคล คือ สาวก หรือศาสนิกชนผู้เชื่อฟัง เชื่อถือ ปฏิบัติตามคำสั่งสอน เช่น พระพุทธศาสนามีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
๔. มีศาสนพิธี คือ พิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา ซึ่งในแต่ละศาสนาก็จะมีพิธีกรรมของตนเอง เช่น พระพุทธศาสนามีพิธีบรรพชา อุปสมบท, ศาสนาคริสต์มีพิธีมิซซา เป็นต้น
๕. มีศาสนสถาน คือ สถานที่เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม หรือเป็นที่อาศัยของผู้เผยแผ่ศาสนานั้น ๆ เช่น พระพุทธศาสนามีวัด อาราม โบสถ์ วิหาร, ศาสนาอิสลามมีมัสยิด ศาสนาสิขมีคุรุดวารา เป็นต้น

อ่านต่อ

 


 

พุทธศาสดา

ธรรมศึกษาวัดสะพานสู

เพื่อนบ้าน

ธรรมะเดลิเวอร์รี่

ฟังธรรมดอทคอม

พระสมรัก  ญาณธีโร

พระปิยะโรจน์

 หลวงปู่แอ๊ว  ธมฺมปาโล

jozho.net

 พระไตรปิฎก


 

กระดานข่าว 

 

    Copyright (c) 2009 by Namokhlang.com

 

Powered by AIWEB