นะโมขลังดอทคอม  

      

 

เนื้อเรื่องย่อเป็นภาษาบาลีที่ขึ้นต้นในกัณฑ์แต่ละกัณฑ์ของมหาเวสสันดรชาดก เรียก “จุณณียบท” จุณณียบทในกัณฑ์กุมาร กล่าวถึงชูชกเดินทางมาถึงเขาวงกตตามที่พระฤาษีอัจจุตตะชี้ทาง ชูชกเดินทางถึงสระบัวในเวลาใกล้ค่ำ พระฤาษีอัจจุตตะนี้ ในชาติต่อมาคือพระสารีบุตร “พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า” และได้รับยกย่องเป็น “เอกทัคคะทางปัญญา” (ปัญญาเป็นเลิศ) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
มีข้อความในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมารที่ควรให้ความสนใจอยู่หลายเรื่อง ที่จะหยิบยกมาให้ดูนี้ ที่ผูจัดทำได้รวบรวมมาจากเอกสารการอบรม และรวบรวมเพิ่มเติมประกอบความเข้าใจยิ่งขึ้น ดังนี้
๑. บัณฑุกัมพล
คำว่า “บัณฑุ แปลว่า สีเหลืองอ่อน, สีนวล + กัมพล แปลว่า ผ้าขนสัตว์ = แท่นหินอันอ่อนนุ่มราวปูลาดด้วยขนสัตว์
บัณฑุกัมพล เป็นชื่อแท่นของพระอินทร์อยู่ใต้ต้นปาริชาติบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นแท่นแก้วสีแดงเข้มราวกับดอกสะเอ้ง(ดอกชบา) แผ่นศิลานี้อ่อนดังหงอนราชหงศ์ทอง เมื่อพระอินทร์นั่งจะยุบลงไปถึงสะดือ พอลุกขึ้นก็จะเต็มดังเดิมเหมือนแท่นสปริง ถ้ามีเหตุเภทภัยในโลก แท่นนี้จะแข็งกระด้าง พระอินทร์ก็จะลงไปช่วยต้นปาริชาติเป็นไม้ทองหลาง เรียกชื่อว่า “ปาริชาติกัลปพฤกษ์” (ที่จริงต้นปาริชาตกับกัลปพฤกษ์คนละอย่างกันต้นปาริชาตในเรื่องกามนิตนั้นได้กลิ่นแล้วระลึกชาติได้ ส่วนกัลปพฤกษ์มีอยู่ในอุตรกุรุทวีปเป็นต้นไม้สารพัดนึก ใครนึกอะไรได้อย่างนั้น)
๒. “อนึ่งคำโบราณท่านย่อมว่า ช้า ๆ จะได้พร้าสองเล่มงาม”
สำนวนนี้เป็นสำนวนของช่างตีเหล็กในสมัยสุโขทัย
๓. “นุ่งผ้าย้อมฝาดคาดกาสาว์สัก กระสันพันเป็นเกลียวเหนี่ยวเหน็บรั้ง ผืนหนึ่งคาดพุงนุงนังจั้งมั่งทะมัดทะแมง ทัดดอกไม้แดงทั้งสองหูดูสง่า มีหัตถ์เบื้องขวานั้นถือดาบ”
ข้อความนี้บรรยายลักษณะของบุรุษในความฝันของพระนางมัทรี ดอกไม้แดงในที่นี้ คือดอกยี่โถแดง = กรวรี เป็นดอกไม้ที่เพชรฆาตใช้ทัดหู
๔. ในเรื่องตอนที่กล่าวถึงพระนางมัทรีทรงพระสุบินว่าเป็น “ปัจจุสมัยเวลา” ซึ่งเป็นเวลาใกล้รุ่ง คนโบราณได้กล่าวถึงความฝันของคนเราว่ามี ๔ ประเภท ตามช่วงเวลากลางคืน คือ
๑. ฝันช่วงเวลา ๑๘.๐๐ น. - ๒๑.๐๐ น. เรียกว่า ธาตุโขภ คือธาตุในร่างกายทำงานผิดปรกติ เช่น กินอิ่มเกินไป หรือหิวเกินไป
๒. ฝันช่วงเวลา ๒๑.๐๑ น. - ๒๔.๐๐ น. เรียกว่า บุพนิมิต คือความฝันซึ่งเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้า
๓. ฝันช่วงเวลา ๒๔.๐๑. - ๐๓.๐๐ น. เรียกว่า จิตนิวรณ์ คือจิตผูกพันอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเก็บเอาไปฝัน
๔. ฝันช่วงเวลา ๐๓.๐๑ น. - ๐๖.๐๐ น. เรียกว่า เทพสังหรณ์ ถือว่าเป็นความฝันที่เทวดาดลใจ
ส่วนคำว่า “ปัจฉิมยาม” ก็หมายถึงช่วงเวลาใกล้รุ่ง คนโบราณแบ่งช่วงเวลายามราตรีออกเป็น ๓ ช่วง โดยเริ่มตั้งแต่เวลาหกโมงเย็นซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มตกดิน เริ่มเวลา ๐๖.๐๐ น. เป็นเวลาเริ่มต้น ดังนี้
ปฐมยาม - ยามต้น
มัชฌิมยาม - ยามกลาง
ปัจฉิมยาม – ยามปลาย
๕. “บรรทมเหนือใบไม้ลาดล้วนละอองทราย เทพเจ้าย่อมยักย้ายซึ่งราศี ธาตุทั้งสี่จึงวิปริต
ข้อความดังกล่าวเป็นตอนที่พระเวสสันดรทรงทำนายฝันให้พระนางมัทรี ข้อความที่พิมพ์ตัวเข้มแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของคนโบราณว่า คนเราทุกคนจะมีเทวดารักษาอยู่คนละ ๑ องค์ ตอนเช้าอยู่ที่หน้า คนเราจึงต้องล้างหน้าในตอนเช้า ตอนเที่ยงอยู่ที่หน้าอกจึงต้องอาบน้ำประพรมน้ำหอม ตอนเย็นอยู่ที่เท้า จึงต้องล้างเท้าก่อนนอน พระเวสสันดรทรงทำนายฝันของพระนางมัทรีว่าเป็นฝันที่เชื่อไม่ได้ เพราะร่างกายไม่สะอา
๖. “สัมโมทนียนัยกถาธรรมสวัสดิ์” คำศัพท์นี้ยาวมาก ถ้าจะแยกความหมายก็จะได้ว่า
สัม = พร้อม + โมทนีย = เป็นที่ยินดี + นัย = ความ, ความหมาย, แนวทาง + กถา = ถ้อยคำ, ข้อความ + ธรรม = ดีงาม + สวัสดิ์ = กฏเกณฑ์, ระเบียบ, ข้อบังคับ รวมความแล้วหมายความว่าระเบียบอันดีงามว่าด้วยการกล่าวทักทายด้วยถ้อยคำอันเป็นที่น่ายินดี
๗. “เฒ่าก็พูดหว่านล้อมด้วยคำยอ ยกเอาแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่อ อุปมาถวายเสียก่อน”
ข้อความดังกล่าวเป็นสำนวน ที่ชูชกใช้วิธีการขอสองกุมารจากพระเวสสันดรโดยการอ้างถึงคุณประโยชน์ของแม่น้ำทั้งห้าสายของอินเดียซึ่งไหลมาจากอากาศคงคา เปรียบเทียบกับน้ำพระทัยของพระเวสันดร เป็นการพูดเพื่อให้พระเวสสัดรเกิดความพอพระทัย แล้วจึงทูลขอสองกุมารจากพระเวสสันด
๘. “ครั้นได้ฤดูเดือนมรสุมแล้วก็แซ่ซ้อง”
เดือนมรสุม หมายถึงเดือนที่ลมมรสุมพัดผ่าน ลมมรสุมมี ๒ ประเภท คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ สมัยก่อนชาวจีนใช้เรือสำเภาแล่นไปมาค้าขายระหว่างประเทศไทย-จีน ซึ่งต้องอาศัยลมนี้กางใบแล่นเรือ
๙. “อับเฉากันโคลงประจุเรียบ สำเภานี่ก็พาบเพียบเพียงราโท”
อับเฉา หมายถึงของหนัก ๆ ที่ใช้ถ่วงท้องเรือ เช่น ก้อนหิน กระสอบทราย ชาวจีนนิยมใช้หินทรายสีเขียวมรกตแกะสลักเป็นตุ๊กตาใหญ่เล็กมากมาย บรรทุกถ่วงท้องเรือมาแจกจ่ายตามวัดและบ้านขุนนางไทย ขากลับบรรทุกสินค้าไปกลับไปขายที่เมืองจีน
๑๐. ข้อความตอนที่พระเวสสันดรเรียกกัณหาชาลีขึ้นจากสะบัว ในการเทศน์มหาชาติ มีการแหล่โดยมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “แหล่ตะเภาทอง” คำว่า “ตะเภา คือ สำเภา” พระเวสสันดรทรงกล่าวถึงเรือสำเภา ๒ ชนิดเปรียบเทียบให้กัณหากับชาลีฟังว่า
โลกุตรนาวา หมายถึงเรือของชาวโลก อาจแตกหักทำลายได้ง่ายเพราะไม่มีความมั่นคง
โลกิยนาวา เรือของคนเหนือโลก เป็นเรือที่จะขนส่งมนุษย์ไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน
๑๑. “ดั่งว่าใครมายุแยงแกล้งผัดพานเดือดทะยานอยู่ฮักฮึก”
ข้อความนี้กล่าวเปรียบเทียบกริยาของพญาคชสารชาติฉัททันต์ ซึ่งมีอาการตกมันเนื่องจากถูกล่อให้โกรธด้วยม้า“ผัดพาน”เป็นกีฬาโบราณชนิดหนึ่ง คือการขี่ช้างล่อม้าที่กำลังตกมัน
ส่วนคำว่า “ฉัททันต์” เป็นชื่อช้างตระกูลหนึ่งใน ๑๐ ตระกูล เรียกว่า “ฉัททันตหัตถี” กายสีขาวบริสุทธิ์ดังเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง
๑๒. “ทั้งพญาพาฬมฤคราชเสือโคร่งคระครางครึ้ม…”
พญาพาฬมฤคราช เป็นศัพท์แปลสองชั้น พาฬ = ดุร้าย + มฤค = กวาง + ราช = พญา แปลว่า พญากวางร้าย แปลชั้นที่สอง แปลว่า เสือโคร่ง หรือเสือเหลือง
๑๓. “แก้วเก้าเนาวรัตน์แสนสัตตรัตน์เรืองรองซร้องสาธุการอยู่อึงมี่”
เนาวรัตน์ หมายถึง แก้วเก้าประการ เพชรน้ำดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสด
บุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย
สังวาลสายไพฑูรย
สัตตรัตน์ หมายถึงแก้ว 7ประการ คือ สุวรรณ (ทอง), หิรัญ (เงิน), มุกดาหาร, วิเชียร(เพชร), มณี, ไพฑูรย์, ประพาฬ
หรืออาจหมายถึง ความเป็นจักรพรรดิ หรือ พระราชาจากการมีของดีเลิศ 7 อย่าง คือ
๑. จักกรัตนะ = จักรแก้ว สามารถนำสมบัติที่พระราชาพึงประสงค์มาถวายได้
หัตถีรัตนะ = ช้างแก้ว สามารถไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
อัสสรัตนะ = ม้าแก้ว สามารถช่นเดียวกับช้งแก้ว
มณีรัตนะ = แก้วมณี สามารถให้แสงสว่างในที่มืดได้กว้างไกล
อิตถีรัตนะ = นางแก้ว มีรูปร่างไม่ดำไม่ขาว ไม่อ้วนไม่ผอม ไม่เตี้ยไม่สูงจน เกินไป มีหน้าที่บำเรอน้ำพระทัยของพระมหาจักรพรรดิ์
คหปติรัตนะ = ขุนคลังแก้ว มีสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติอย่างสูง
ปริณายกรัตนะ = สามารถในการรบ การปกครอง อย่างสูง
ส่วนรัตนะในชาดก หมายถึง คุณธรรม คุณค่าและความดีที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่การบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ นั่นเอง
๑๔. “อันว่าภาคพื้นพระธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ เสียงอุโฆษครื้นครั่นดั่งไฟบรรลัยกัลป์จะผลาญโลกให้ทำลายวายวินาศ”
สองแสนสี่หมื่นโยชน์ เป็นตัวเลข หมายถึงความลึกของแผ่นดิน คนโบราณเชื่อว่า แผ่นดินโลกมีความลึกหรือหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์
๑๕. “แต่ก่อนโสดค่าสินไถ่สืบมาถึงสี่ชั่ว ผู้อื่นรู้ก็เกรงกลัวไม่ทำได้เหมือนชายผู้นี้”
โสด แปลว่า แต่ก่อน
ค่าสินไถ่ คือ ประเภทของทาสชนิดหนึ่ง ในกฏหมายตราสามดวง ได้อธิบายไว้ดังนี้
ทาสสินไถ่ หมายถึง ทาสที่มีผู้นำมาขายให้ ต้องทำงานจนกว่าตนเองหรือผู้อื่นมาไถ่ จึงจะหลุดพ้นจากความเป็นทาส
ทาสในเรือนเบี้ย ได้แก่ลูกทาสที่เกิดจากผู้ที่เป็นทาส
ทาสได้แต่บิดามารดา คือทาสพ่อแม่ยกลูกให้เป็นทาส หรือลูกติดของทาส
ทาสท่านให้ หมายถึงทาสที่ผู้หนึ่งยกให้แก่ผู้อื่นทำองยกทรัพย์สินให้
ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑโทษ ได้แก่พวกที่พ้นโทษมาแล้ว ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากขัดสนไม่มีทรัพย์สินอยู่เลย จึงสมัครตัวเป็นทาส
ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย คือคนที่ยอมตัวเป็นทาสเพราะเกิดวิกฤตทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ทำให้เกิดข้าวยากหมากแพง
ทาสเชลย หมายถึง ข้าศึกที่ถูกจับมาเป็นทาส

อ่านต่อ


 

พุทธศาสดา

ธรรมศึกษาวัดสะพานสูง

เพื่อนบ้าน

ธรรมะเดลิเวอรี่

ฟังธรรมดอทคอม

พระสมรักญาณธีโร

พระปิยะโรจน์

jozho.net

 พระไตรปิฎก

 

กระดานข่าว 

    Copyright (c) 2009 by Namokhlang.com

 

Powered by AIWEB