พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พรหมชาล สูตรกับการประยุกต์ใช้ในชีวิต 

      พรหมชาลสูตร เป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ถือเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหมือนบทนำที่แสดงภาพรวมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับศีล และทิฏฐิ ๖๒ ประการ

ที่มาและเรื่องเล่า

      เรื่องราวในพรหมชาลสูตรเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พระพุทธเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ไปยังเมืองนาลันทา ระหว่างทางได้มี สุปปิยปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) กับ พรหมทัตตมานพ (ลูกศิษย์ของสุปปิยะ) เดินทางตามมาด้านหลัง

      ในระหว่างทาง สุปปิยปริพาชกได้กล่าวตำหนิพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในขณะที่พรหมทัตตมานพกลับกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ทั้งสองโต้เถียงกันตลอดทาง

      พระภิกษุรูปหนึ่งได้ยินเรื่องราวการโต้เถียงนี้ จึงนำเรื่องไปกราบทูลพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสดับเรื่องแล้ว พระองค์มิได้ทรงแสดงความโกรธหรือไม่พอใจต่อคำตำหนิ หรือยินดีกับคำสรรเสริญ แต่ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

  • เมื่อมีคนกล่าวตำหนิติเตียนพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ไม่ควรเสียใจ ไม่ควรคับแค้นใจ หรือโกรธแค้น เพราะหากทำเช่นนั้น จิตใจของภิกษุจะเศร้าหมอง จะไม่สามารถรู้แจ้งธรรมได้ ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวตำหนินั้นจริงหรือไม่ หากไม่จริง ก็ชี้แจงไปตามความเป็นจริง
  • เมื่อมีคนกล่าวสรรเสริญพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์: ไม่ควรดีใจ ไม่ควรปลาบปลื้มใจจนเกินไป เพราะหากทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความยินดี ความทะนงตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวสรรเสริญนั้นจริงหรือไม่ หากจริง ก็รับรู้ไว้

     จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายถึง ศีล โดยละเอียด ตั้งแต่ จุลศีล (ศีลเล็กน้อย) มัชฌิมศีล (ศีลปานกลาง) และ มหาศีล (ศีลใหญ่) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ และเหล่าพระสาวกที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์

     ต่อจากเรื่องศีล พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่อง ทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งเป็นความเห็นผิดต่างๆ ที่นักบวชในยุคนั้นยึดถือ โดยทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างละเอียด และทรงชี้ให้เห็นว่าทิฏฐิเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น และสุดท้ายก็ทรงสรุปว่าพระองค์ทรงล่วงพ้นทิฏฐิเหล่านั้นไปได้หมดแล้ว เพราะทรงรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเกิดดับของสิ่งทั้งปวง

คติธรรม

๑.อุเบกขาธรรม (ความเป็นกลาง) พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึงการวางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปกับคำตำหนิหรือคำสรรเสริญ สอนให้ภิกษุพิจารณาด้วยปัญญาว่าอะไรคือความจริง ไม่หลงระเริงไปกับคำเยินยอ หรือขุ่นเคืองกับคำติเตียน

๒.ความสำคัญของศีล พระสูตรนี้เน้นย้ำความสำคัญของศีล ว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม เป็นเครื่องชำระกาย วาจา ให้บริสุทธิ์ และเป็นสิ่งที่แยกแยะพุทธบริษัทออกจากนักบวชลัทธิอื่น

๓.การไม่ยึดมั่นในทิฏฐิ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของการยึดมั่นในทิฏฐิหรือความเห็นผิดต่างๆ ว่าเป็นเครื่องกั้นขวางการเข้าถึงความจริง และความหลุดพ้นจากทุกข์

๔.ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่ง เป็นปัญญาที่ทำให้หลุดพ้นจากทิฏฐิและสังสารวัฏ

๕.การไม่หลงในโลกธรรม ๘ เรื่องราวนี้สะท้อนหลักโลกธรรม ๘ คือ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา, สุข-ทุกข์ และสอนให้วางใจเป็นกลางต่อสิ่งเหล่านี้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

๑.การวางใจเป็นกลางต่อคำพูดผู้อื่น ไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำวิจารณ์ ควรพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่หลงดีใจจนเหลิง หรือเสียใจจนฟูมฟายเกินไป ใช้คำวิจารณ์เป็นโอกาสในการปรับปรุงตนเอง และใช้คำชมเป็นกำลังใจแต่ไม่ยึดติด

๒.รักษาศีลและจริยธรรม การปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม จะทำให้เรามีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่มีความผิดติดตัว ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข

๓.ไม่ยึดติดกับความคิดเห็น ฝึกเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองมากเกินไป เพราะบางครั้งความคิดเห็นของเราอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจเป็นความเห็นที่ผิดพลาดก็ได้

๔.พัฒนาปัญญา หมั่นศึกษาเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฝึกสติและปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้เท่าทันความจริงของชีวิต และไม่หลงไปกับสิ่งลวงตา

๕.ฝึกใจให้สงบ ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดๆ ทั้งดีและร้าย ควรฝึกจิตใจให้สงบ ไม่ให้ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ เพราะเมื่อใจสงบ เราจะสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล

 

สรุป

พรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรที่แสดงให้เห็นถึง ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ทั้งทางกาย วาจา ใจ ผ่านการแสดงหลักศีล และการที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง จนสามารถพ้นจากทิฏฐิทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง

                                                                                                                                                                                                  ปภสฺสโรภิกฺขุ











 

นะโมขลังดอทคอม 

 

 

มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนา

     มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ได้ประสบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นทั้งความน่ากลัว แปลกประหลาด และมหัศจรรย์สำหรับตัวมนุษย์ เช่น ความมืด ความสว่าง พายุพัด ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ไฟป่า เป็นต้น และด้วยความที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เหล่านั้น มนุษย์จึงเกรงกลัวปรากฏธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

     ดังนั้น มนุษย์จึงแสวงหาสิ่งที่จะมาคุ้มครองป้องกันตนจากภัยอันตรายที่คิดว่าจะได้รับจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ รวมทั้งแสวงหาสิ่งซึ่งเชื่อว่าสามารถคุ้มครองให้อยู่อย่างเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณียอมรับนับถือพลังลึกลับทางธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือมนุษย์ และได้สร้างขนบธรรมเนียมที่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น และควรประพฤติต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยอมรับนับถือ

     จากความเชื่อของกลุ่มคน และขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ จึงค่อย ๆ วิวัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นลัทธิ และศาสนาต่าง ๆ นั่นเอง

     มีผู้เสนอว่า ศรัทธา หรือความเชื่อนับเป็นจุดเริ่มต้นทางศาสนาทั้งปวง ซึ่งศรัทธาในทางศาสนานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่ ศรัทธาอันเป็นญาณสัมปยุต คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา รู้เหตุ รู้ผล และศรัทธาอันเป็นญาณวิปปยุต คือ ความเชื่ออันเกิดจากความไม่รู้เหตุรู้ผล

     หากจะแยกให้เห็นมูลเหตุของศาสนาตามวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันสามารถแยกได้ดังนี้ (เสฐียร พันธรังสี, ๒๕๑๓:๑๘)

๑. เกิดจากอวิชชา : อวิชชา คือ ความไม่รู้ ในที่นี้ได้แก่ความไม่รู้เหตุรู้ผล เริ่มแต่ความไม่รู้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ ทางดาราศาสตร์ ไม่รู้ชีววิทยา และไม่รู้จักธรรมชาติอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อมีความไม่รู้เหตุผลก็เกิดความกลัวในพลังทางธรรมชาติ ต้องการความช่วยเหลือจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งมีอำนาจเหนือตน จึงมีการส้รางขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อบูชาเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เพื่อที่จะสามารถช่วยให้มนุษย์มีความอยู่รอดไม่มีภัยต่อ ๆ ไป

๒. เกิดจากความกลัว : มนุษย์จะอยู่ในโลกได้ต้องมีหน้าที่ คือ การต่อสู้กับธรรมชาติ และสู้สัตว์ร้ายนานาชนิด และโดยเฉพาะกับมนุษย์ด้วยกันเอง ยามใดที่เราสามารถเอาชนะธรรมชาติหรือคนได้ ความเกรงกลัวธรรมชาติ สัตว์ร้าย หรือมนุษย์ย่อมไม่มี แต่ถ้าไม่สามารถต่อสู้ได้ มนุษย์จะเกิดความกลวต่อสิ่งเหล่านั้น และในยามนั้นเอง ที่มนุษย์ต้องพากันกราบไหว้บูชา และแสดงความจงรักภักดี ทำพิธีสังเวยเซ่นไหว้ต่อธรรมชาติดังกล่าว ด้วยความหวังหรืออ้อนวอนขอให้สำเร็จตามความปรารถนาอันเป็นผลตอบแทนขึ้นมาเป็นความสุข ความปลอดภัย และอยู่ได้ในโลก

๓. เกิดจากความจงรักภักดี : ความจงรักภักดีเป็นศรัทธาครั้งแรกที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยยอมเชื่อว่า เป็นกำลังก่อให้เกิดความสำเร็จได้ทุกเมื่อ ในกลุ่มศาสนาที่นับถือพระเจ้า (ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม) มุ่งเอาความภักดีต่อพระเจ้าเป็นหลักใหญ่ในศาสนา ในกลุ่มชาวอารยันมีสาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) มีคำสอนถึงภักติมรรค คือ ทางแห่งความภักดี อันจะยังบุคคลให้ถึงโมกษะ คือหลุดพ้นได้ แม้ในทางพระพุทธศาสนาก็ยอมรับว่าศรัทธา หรือความเชื่อ ความเลื่อมใสเท่านั้นที่จะพาข้ามโอฆสงสารได้ เมื่อเป็นดังนี้แสดงว่ามนุษย์ยอมตนให้อยู่ใต้อำนาจของธรรมชาติเหนือตน อันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซึ่งเรียกว่าเทพเจ้า หรือพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดตามมาคือมนุษย์ยอมให้เครื่องเซ่สังเวยแก่ธรรมชาตินั้น ๆ ด้วย ลักษณะนี้จึงเท่ากับมนุษย์เสียความเป็นใหญ่ในตน ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่ตนคิดว่ามีอำนาจเหนือตน

๔. เกิดจากปัญญา : ศรัทธาอันเกิดจากปัญยาคือมูลเหตุให้เกิดศาสนาอีกทางหนึ่ง แต่ศาสนาประเภทนี้มักเป็นฝ่ายอเทวนิยม คือไม่สอนเรื่องเทพเจ้าสร้างโลก ไม่ถือเทพเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนา หากแต่ถือความรู้ประจักษ์จริงเป็สำคัญ เช่น พระพุทธศาสนา ความเน้นหนักของพระพุทธศาสนา คือ ญาณ หรือปัญยาชั้นสูงสุดที่ทำให้รู้แจ้งประจักษ์ความจริง และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

๕. เกิดจากอิทธิพลของบุคคลสำคัญ : ศาสนาหรือลัทธิที่เกิดจากความสำคัญของบุคคลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน ที่มีเรื่องราว หรือความสำคัญของบุคคลที่อยู่ ณ ที่นั้น ความสำคัญของบุคคลที่เป็นเหตุเริ่มต้นของศาสนา หรือลัทธิ โดยมากมักมีเหตุเริ่มต้นโดยความบริสุทธิ์จากจิตใจของมนุษย์ ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครวางหลัก อีกทั้งเมื่อใครนับถือความสำคัญของบุคคลผู้ใดก็จะพากันกราบไหว้ และเคารพบูชา

๖. เกิดจากลัทธิการเมือง : ลัทธิการเมืองอันเป็นมูลเหตุของศาสนาเป็นเรื่องสมัยใหม่ อันสืบเนื่องจากการที่ลัทธิการเมืองเฟื่องฟูขึ้นมา และลัทธิการเมืองนั้นได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อคนลางกลุ่ม เป็นต้นว่า กลุ่มคนยากจน ซึ่งคนเหล่านั้นก็ได้ละทิ้งศาสนาเดิมที่ตนเองนับถืออยู่ แลวหันมานับถือลัทธิการเมืองดังกล่าวเป็นศาสนาประจำสังคม หรือชาตินิยมลัทธิการเมือง เป็นต้นว่า ลัทธินาซี ลัทธิฟาสซิสม์ และลัทธิคอมมิวนิสต์

 

อ่านต่อ


 

พุทธศาสดา

ธรรมศึกษาวัดสะพานสูง

 

เพื่อนบ้าน

ธรรมะเดลิเวอรี่

ฟังธรรมดอทคอม

พระสมรักษ์  ญาณธีโร

พระปิยะโรจน์

jozho.net

พระไตรปิฎก

 

กระดานข่าว

    Copyright (c) 2009 by Namokhlang.com

 

Powered by AIWEB