พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พรหมชาล สูตรกับการประยุกต์ใช้ในชีวิต 

      พรหมชาลสูตร เป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ถือเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหมือนบทนำที่แสดงภาพรวมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับศีล และทิฏฐิ ๖๒ ประการ

ที่มาและเรื่องเล่า

      เรื่องราวในพรหมชาลสูตรเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พระพุทธเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ไปยังเมืองนาลันทา ระหว่างทางได้มี สุปปิยปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) กับ พรหมทัตตมานพ (ลูกศิษย์ของสุปปิยะ) เดินทางตามมาด้านหลัง

      ในระหว่างทาง สุปปิยปริพาชกได้กล่าวตำหนิพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในขณะที่พรหมทัตตมานพกลับกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ทั้งสองโต้เถียงกันตลอดทาง

      พระภิกษุรูปหนึ่งได้ยินเรื่องราวการโต้เถียงนี้ จึงนำเรื่องไปกราบทูลพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสดับเรื่องแล้ว พระองค์มิได้ทรงแสดงความโกรธหรือไม่พอใจต่อคำตำหนิ หรือยินดีกับคำสรรเสริญ แต่ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

  • เมื่อมีคนกล่าวตำหนิติเตียนพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ไม่ควรเสียใจ ไม่ควรคับแค้นใจ หรือโกรธแค้น เพราะหากทำเช่นนั้น จิตใจของภิกษุจะเศร้าหมอง จะไม่สามารถรู้แจ้งธรรมได้ ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวตำหนินั้นจริงหรือไม่ หากไม่จริง ก็ชี้แจงไปตามความเป็นจริง
  • เมื่อมีคนกล่าวสรรเสริญพระองค์ พระธรรม หรือพระสงฆ์: ไม่ควรดีใจ ไม่ควรปลาบปลื้มใจจนเกินไป เพราะหากทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความยินดี ความทะนงตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขากล่าวสรรเสริญนั้นจริงหรือไม่ หากจริง ก็รับรู้ไว้

     จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายถึง ศีล โดยละเอียด ตั้งแต่ จุลศีล (ศีลเล็กน้อย) มัชฌิมศีล (ศีลปานกลาง) และ มหาศีล (ศีลใหญ่) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ และเหล่าพระสาวกที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างสมบูรณ์

     ต่อจากเรื่องศีล พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่อง ทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งเป็นความเห็นผิดต่างๆ ที่นักบวชในยุคนั้นยึดถือ โดยทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างละเอียด และทรงชี้ให้เห็นว่าทิฏฐิเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น และสุดท้ายก็ทรงสรุปว่าพระองค์ทรงล่วงพ้นทิฏฐิเหล่านั้นไปได้หมดแล้ว เพราะทรงรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเกิดดับของสิ่งทั้งปวง

คติธรรม

๑.อุเบกขาธรรม (ความเป็นกลาง) พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึงการวางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปกับคำตำหนิหรือคำสรรเสริญ สอนให้ภิกษุพิจารณาด้วยปัญญาว่าอะไรคือความจริง ไม่หลงระเริงไปกับคำเยินยอ หรือขุ่นเคืองกับคำติเตียน

๒.ความสำคัญของศีล พระสูตรนี้เน้นย้ำความสำคัญของศีล ว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม เป็นเครื่องชำระกาย วาจา ให้บริสุทธิ์ และเป็นสิ่งที่แยกแยะพุทธบริษัทออกจากนักบวชลัทธิอื่น

๓.การไม่ยึดมั่นในทิฏฐิ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของการยึดมั่นในทิฏฐิหรือความเห็นผิดต่างๆ ว่าเป็นเครื่องกั้นขวางการเข้าถึงความจริง และความหลุดพ้นจากทุกข์

๔.ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่ง เป็นปัญญาที่ทำให้หลุดพ้นจากทิฏฐิและสังสารวัฏ

๕.การไม่หลงในโลกธรรม ๘ เรื่องราวนี้สะท้อนหลักโลกธรรม ๘ คือ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา, สุข-ทุกข์ และสอนให้วางใจเป็นกลางต่อสิ่งเหล่านี้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

๑.การวางใจเป็นกลางต่อคำพูดผู้อื่น ไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำวิจารณ์ ควรพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่หลงดีใจจนเหลิง หรือเสียใจจนฟูมฟายเกินไป ใช้คำวิจารณ์เป็นโอกาสในการปรับปรุงตนเอง และใช้คำชมเป็นกำลังใจแต่ไม่ยึดติด

๒.รักษาศีลและจริยธรรม การปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม จะทำให้เรามีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่มีความผิดติดตัว ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข

๓.ไม่ยึดติดกับความคิดเห็น ฝึกเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองมากเกินไป เพราะบางครั้งความคิดเห็นของเราอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจเป็นความเห็นที่ผิดพลาดก็ได้

๔.พัฒนาปัญญา หมั่นศึกษาเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฝึกสติและปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้เท่าทันความจริงของชีวิต และไม่หลงไปกับสิ่งลวงตา

๕.ฝึกใจให้สงบ ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดๆ ทั้งดีและร้าย ควรฝึกจิตใจให้สงบ ไม่ให้ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ เพราะเมื่อใจสงบ เราจะสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล

 

สรุป

พรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรที่แสดงให้เห็นถึง ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ทั้งทางกาย วาจา ใจ ผ่านการแสดงหลักศีล และการที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง จนสามารถพ้นจากทิฏฐิทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง

                                                                                                                                                                                                  ปภสฺสโรภิกฺขุ











 

นะโมขลังดอทคอม

        

 

ชาดกคืออะไร
ครูแก้ว : เขียน

พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปตีความหมายของคำว่าชาดกว่าหมายถึง “เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า” เมื่อเป็นเรื่องราวในอดีตชาติ ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าสอนให้คนเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร ? น่าจะขัดแย้งกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาพุทธที่ให้ยึดหลักแห่งเหตุผลหรือไม่ เป็นข้อข้องใจที่เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตกับผู้เขียน
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความรู้และแสดงความคิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่อาจช่วยคลายความสงสัยใจลงได้บ้างดังต่อไปนี้ จะถูกหรือผิดก็เป็นเพียงความคิดเห็นซึ่งท่านผู้อ่านสามารถโต้แย้งได้
คำว่า “ชาดก” แปลตามรูปศัพท์ว่า เรื่องที่เกิดแล้ว เรื่องที่เกิดมาแล้วนั้นอาจไม่จำเป็นว่า “เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดในสมัยไหน” แต่มักเป็นเรื่องที่คนมักมาตีความเอาว่า “เกิดในอดีตชาติ” และเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอตีความว่าเรื่องชาดกทั้งหลายซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ฟังด้วยพระองค์เองนั้นอาจจะเกิดในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หรือเกิดขึ้นในขณะแสวงหาความรู้แจ้งเห็นจริง หรือ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้ เป็นกลวิธีในการสอนบุคคลอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกเรื่องราวของพระองค์มาเทียบเคียง เพื่อให้เห็นถึงความพากเพียรในการประกอบคุณงามความดีว่าต้องอาศัยความพากเพียรที่แน่วแน่ไม่หวั่นไหวและได้สร้างสมมาอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน ในการสอนบุคคล พระพุทธองค์ทรงใช้จิตวิทยาหลายแง่หลายมุม คือ
กำหนดรู้บุคคลที่จะสอนและรู้ปัญหาของผู้ที่จะสอนก่อน
เลือกคุณธรรมให้เหมาะกับบุคคลและปัญหาของบุคคลนั้น
ใช้วิธีสอนแบบอุปมาอุปไมย
ใช้วิธีสอนโดยวิธีปุจฉาวิสัชนา คือ ถาม – ตอบ
ใช้วิธีสอนโดยทรงทำพระองค์เป็นตัวอย่างก่อน
แต่ละวิธีพระพุทธองค์จะทรงเลือกเรื่องที่คล้าย ๆ กับชีวิตของพระองค์ หรืออาจเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ มาเล่าโดยใช้วิธีเลียบ ๆ เคียง ๆ ยกเป็นนิทานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อันเป็นวิธีที่หลีกเลี่ยงการยกยอตัวเอง คนฟังศรัทธาผู้พูดอยู่แล้ว เมื่อเป็นเรื่องที่ผู้เล่าบอกว่าเป็นเรื่องในอดีตชาติของผู้เล่า ความเลื่อมใสศรัทธาก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น เหมือนคนเราในปัจจุบันนี้ที่ถ้ารักและศรัทธาใครเราก็จะเลื่อมใสเชื่อฟังผู้นั้น เช่น ถ้าพ่อแม่ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีของลูก ลูกก็จะเชื่อฟัง ยึดถือความประพฤติของพ่อแม่เป็นแบบอย่าง ลูกชายก็จะซึมซับบุคลิกท่าทางของพ่อเอาไว้ ลูกสาวจะสนิทสนมและซึมซับแบบอย่างความเป็นกุลสตรีที่ดีจากแม่ เยาวชนทั้งหลายก็เช่นกันเมื่อเกิดความรักศรัทธาผู้ใหญ่คนใด ก็มักจะนำแบบอย่างพฤติกรรมที่ดีมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีก็จะเหมือนกับ “แม่ปูสอนลูกปู” การแนะสั่งสอนก็จะไม่เกิดประสิทธิผล
ชาดกมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนา มาจากคำว่า “ ไตร” แปลว่า สาม + ปิฎก หมายถึงตะกร้าหรือคัมภีร์ ประกอบด้วย
“พระวินัยปิฎก” ซึ่งว่าด้วยวินัยหรือศีลของพระภิกษุและภิกษุณี
“พระสุตันตปิฎก” ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป และ
“พระอภิธรรมปิฎก” ว่าด้วยธรรมชั้นสูง
ส่วนประเภทของชาดก มี ๒ ประเภท คือ นิบาตชาดก ถือว่าเป็นพุทธวจนะที่แท้จริงมีอยู่ในพระไตรปิฎก ๕๔๗ เรื่อง คนทั่วไปนิยมเรียก “พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ” และ พาหิรกชาดก (ปัญญาสชาดก) มี ๕๐ เรื่อง ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก จึงเรียกกันว่า “ชาดกนอกนิบาต” เป็นการนำเอานิทานสุภาษิตหรือนิทานอิงธรรมะเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อกันมาในประเทศไทยตั้งแต่ครั้งโบราณทั้งภายในและนอกประเทศ มีพระภิกษุชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งไว้เป็นภาษามคธ เนื้อเรื่องมีความละเอียดพิสดาร ผู้แต่งพยายามนำนิทานทั้งหมดนี้เข้าไปเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าจนแทบกลายเป็นเรื่องชาดก ชาวบ้านก็เข้าใจและเชื่อถือ
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเล่าเรื่องในอดีตชาติให้ใครฟังนั้นต้องมีคน “อาราธนา” คือ ขอร้องให้เล่าก่อน พระพุทธองค์จึงทรงเล่า ดังเช่นเมื่อครั้งเสด็จไปประทับที่วัดนิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติ มีพระประยูรญาติบางส่วนแสดงทิฐิไม่เคารพพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงแสดงพระปาฏิหาริย์ มีฝนโบกขรพรรษตกลงมา ฝนนี่เป็นพิเศษ มีสีแดงดุจทับทิม ใครไม่อยากให้เปียกก็จะไม่เปียก เมื่อตกลงมาก็จะไม่ขังนองเหมือนฝนทั่วไป พระสงฆ์สาวกทั้งหลายที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่นั้นต่างพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคยเห็นฝนชนิดนี้ตกมาก่อนเลย” พระพุทธเจ้าตรัสว่าเคยตกมาแล้วเมื่อสมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระสงฆ์ทั้งหลายจึงอาราธนาให้เล่า
ชาดกจะเป็นเรื่องราวในอดีตชาติ ของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ สำคัญที่เมื่อเราอ่านหรือศึกษาเรื่องราวในชาดก เราสามารถวิเคราะห์หลักธรรมคำสอนที่แฝงอยู่ในชาดกเหล่านั้นแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้างต่างหาก

 

อ่านต่อ


 

 พุทธศาสดา

ธรรมศึกษาวัดสะพานสูง

เพื่อนบ้าน

ธรรมะเดลิเวอรี่

ฟังธรรมดอทคอม

พระสมรักษ์  ญาณธีโร

พระปิยะโรจน์

jozho.net

 

กระดานข่าว 

 

    Copyright (c) 2009 by Namokhlang.com

 

Powered by AIWEB